การจัดการความเครียดในที่ทำงาน Stress Management in Workplace

เวลาเครียดมากๆในที่ทำงาน.....ใครอยากทำสิ่งนี้บ้าง

“อยากจะตะโกนหรือกรี๊ดออกมาดังๆ”

หลายคนก็คงเคยมีภาวะเครียดในที่ทำงานจนอยากจะกรีดร้องออกมาดังๆว่า

“ไม่ไหวแล้วโว้ยยยย”

แต่ก็คงทำไม่ได้ ตอนที่เราอยู่ในออฟฟิสเครียดแค่ไหนก็ต้องฮึบเอาไหว แล้วบอกตัวเองว่า

“เราต้องอดทนไว้ๆๆๆ” จากนั้นก็ไปหาชานมไข่มุกแก้วโตๆเติมน้ำตาลเข้าเส้นเลือด เติมความหวานเข้าไปชดเชยความเครียด ตกเย็นก็ไปเดินshoppingใช้เงินแก้ปัญหาทุกสิ่งอย่าง หรือไม่ก็หาใครสักคนแล้วเล่าเพื่อระบายสิ่งต่างๆออกไปจากตัวเอง

จริงๆแล้วเราทุกคนสามารถจัดการกับความเครียดได้หรือไม่นั้น....เป็นเรื่องที่หลายคนตั้งคำถาม เพราะดูเหมือนว่า “เราจะทำได้แค่หากิจกรรมต่างๆมาพาเราออกไปเพื่อหลีกหนีจากความเครียดชั่วคราว และสุดท้ายความเครียดก็กลับมาอีกและยังเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนกระทั่งสะสมพอกพูนและกลายเป็นความเครียดที่สะสมและเรื้อรัง

เราจะพาคุณไปหาคำตอบนี้ไปพร้อมๆกัน

เมื่อไหร่กันนะที่เราจะรู้ว่า “ความเครียดมาเยี่ยมเยียนเราแล้ว”

เคยมั้ยเวลาที่เราเจอสถานการณ์ที่ยากลำบากแล้วเราคิดกับตัวเองว่า

“ฉับรับมือหรือจัดการกับมันไม่ไหวแล้ว” “ฉันไม่มีความสามารถ”

“ฉันจัดการอะไรไม่ได้เลย” “ไม่มีใครหรืออะไรที่จะช่วยฉันได้เลย”

ใช่ค่ะ ถ้าเมื่อไหร่เราคิดว่า ความสามารถของเรานั้นน้อยกว่าความซับซ้อนหรือความยากของสถานการณ์ตรงหน้า ตอนนั้นเองที่เราเริ่มรู้สึก “เครียด” ความเครียดเองก็ไม่ได้แย่เสมอไป ความเครียดที่กำลังพอดีเป็นพลังความท้าทายในการเผชิญปัญหาให้กับเรา และความเครียดนี้ก็จะอยู่กับเราไม่นาน

แล้วเมื่อไหร่กันล่ะที่เราจะรู้ว่า เราเครียดมากเกินพอดี และความเครียดเริ่มไม่ดีพอกับเราแล้ว”

ให้ลองสังเกตพฤติกรรมของตัวเองว่า เมื่อเวลาเกิดความเครียดแล้วเราแสดงพฤติกรรมอะไรออกไปบ้าง และพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลเสียต่อตัวเอง คนรอบตัว และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเราหรือเปล่า หรือเรามีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงกับการเผชิญปัญหาด้วยการใช้สารเสพติดต่างๆ รวมทั้งการใช้สิ่งที่เพิ่มความสุขแต่เกินพอดีหรือควบคุมไม่ได้ ถ้าใช่ แสดงว่า เรากำลังเผชิญกับความเครียดที่ไม่พอดีแล้วววว

ต่อมาลองสังเกตอาการทางกายต่างๆเหล่านี้ การกิน การนอน การขับถ่าย ความเจ็บป่วยทางกายต่างๆ และความผิดปกติทางกายอื่นๆ สุขภาพกายเริ่มแย่ พบหมอบ่อยขึ้น ทานยาเยอะขึ้น หรืออาจจมีภาวะซึมเศร้า ไม่อยากตื่น ไม่อยากลุกขึ้นมาทำกิจกรรมใดๆแม้ว่าสิ่งนั้นจะเคยเป็นสิ่งที่เคยชอบทำก็ตาม นั่นก็เช่นกัน ที่แสดงว่า “เรากำลังเผชิญกับความเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพกายของเราแล้ว”

นอกจากสิ่งที่สามารถสังเกตได้ด้วยตนเองแล้ว อาจจะเป็นสิ่งที่ผู้คนรอบตัวเราสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของเรา ทั้งในแง่อารมณ์และพฤติกรรม รวมทั้ง บางครั้งอาจจะมากไปจนถึงการมีปัญหาเรื่องควมสัมพันธ์กับคนแวดล้อมรอบตัวเรา นี่ก็เช่นกันอีก ที่แสดงว่า “ความเครียดกำลังส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเราแล้ว”

เมื่อเรารู้แล้วว่า “ความเครียด” มาเคาะประตูและถือวิสาสะเดินเข้ามาในบ้านของเราแล้ว เราจะจัดการกับความเครียดนี้ได้อย่างไรกัน (Stress Management)

ความเครียดมักมาพร้อมกับปัญหา และส่วนใหญ่คือ ปัญหาที่เราคิดว่า “เราแก้ไม่ได้” “เราไม่มีความสามารถพอ” ลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ก่อน

  1. หากเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เรื่องที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นคืออะไร และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกี่%
  2. หากเราแก้ปัญหานี้ได้ เรื่องที่ดีที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้สำหรับปัญหานี้คืออะไร และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกี่%
  3. นอกจากเราแล้ว มีใครที่สามารถช่วยเราแก้ปัญหาเหล่านี้บ้าง เราได้เคยขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นบ้างแล้วหรือยัง
  4. เราได้ลองแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีอื่นๆแล้วหรือยัง (วิธีการที่เราเคยคิดว่า “เป็นไปไม่ได้”)
  5. เรามีความสามารถหรือศักยภาพใดบ้างที่จะใช้แก้ปัญหานี้ได้
  6. ที่ผ่านมาเราผ่านปัญหาต่างๆมาได้อย่างไรกัน

บางครั้งเราอาจพบกับทางออกหรือทางแก้ปัญหาที่หลากหลายและเป็นไปได้มากขึ้น และเราจะพบว่า “ที่เราเคยคิดว่าเราไม่มีความสามารถ” นั้นอาจจะไม่เป็นความจริงก็ได้ หรือถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้จริงๆ แล้วมันจะเป็นอย่างไร เรายอมรับมันได้หรือเปล่า เราสามารถสื่อสารออกไปและขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้หรือไม่

สุดท้าย เราสามารถโอบกอดตัวเองที่ไม่สมบูรณ์แบบ และเราที่มีความสามารถที่จำกัดในบางเรื่องได้หรือไม่ ถ้าทำได้ เราจะเครียดน้อยลงหรือไม่